จากข่าวดัง เรื่องรองหัวหน้าพรรคดัง แห่งหนึ่ง ที่เป็นข่าวในวันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ค่านิยมการมองคนเก่งในสังคมไทยนั้น ยังคงให้ความเก่งนั้น กับมหาวิทยาลัยที่จบ ยิ่งถ้าหากจบจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีชื่อเสียงด้วยแล้ว คนนั้นจะถูกมองว่า “เก่ง” มากยิ่งขึ้นไปอีก
ในเรื่องนี้มีเรื่องชวนคิดได้สองแง่มุม
คนๆ นั้นอาจจะมีความเก่งกาจ ตามนั้นจริงๆ ก็เป็นไปได้ ด้วยประสบการณ์ที่มากกว่าจากการร่ำเรียนจากเมืองนอก ได้เห็นเคสอะไรมากกว่า ได้มีโอกาสเห็น success case จากที่อื่นๆ ได้มากกว่าคนที่จบในเมืองไทย แล้วสามารถนำเอาความรู้ความสามารถนั้นติดตัวกลับมา เพื่อต่อยอด
หรือในอีกแง่หนึ่ง อาจจะมองได้ว่า คนที่จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ชื่อดังจากต่างประเทศนั้น แค่มีถ้าใครมีโอกาสเข้าไปเรียน ถ้าไม่โง่เง่าเต่าตุ่นจนเกินไป ยังไงก็สามารถจบได้ เพราะอาจจะไม่ต้องดิ้นรนอะไรระหว่างการเรียน เพราะมีครอบครัวที่มีฐานะค่อยซัพพอร์ตในทุกๆ เรื่อง แค่มีหน้าที่เรียน และเรียนให้จบแค่นั้นพอ
แต่ในสังคมไทย โดยส่วนมาก เรามักจะเชิดชู คนที่จบจากต่างประเทศ ว่าเก่ง เพราะพูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว พูดศัพท์เฉพาะต่างๆ ในสายงานได้อย่างไม่อึกอัก แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกถึงความสามารถใดๆ เลย เพราะคนพูดภาษาอังกฤษเก่งไม่ได้หมายความว่า คนนั้นจะเก่ง ถ้าไปอยู่เมืองนอกเป็นปี พูดภาษาอังกฤษไม่คล่องสิแปลก แล้วเรียนในหลักสูตรต่างๆ แล้วการพูดถึงสิ่งต่างๆ เหล่านั้น อาจจะไม่ได้เข้าใจในสิ่งนั้นก็ได้
แล้วเราควรมองคนเก่งจากอะไร??
คำว่า เก่ง เราอาจจะมองเป็นการเชิดชู เยินยอ แต่เมื่อใดที่มีคนโดนเชิดชู จะต้องมีอีกคนโดนเปรียบเทียบ หรือโดนด้อยค่าทันทีว่าแย่กว่า จะดีกว่ามั้ยถ้าเราจะมองว่า แต่ละคนมีความถนัด แล้วสามารถที่โดดเด่นที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราไม่ควรจะมาเปรียบเทียบกันว่าใครเก่งกว่าใคร คนเก่งเรื่องการเงิน อาจจะไม่เก่งเรื่องการบริหารจัดการ คนที่เก่งเรื่องการตลาด อาจจะไม่เก่งเรื่องการต่อรอง เพราะฉะนั้นทุกคนมีข้อดีเป็นของตัวเอง เพียงแค่เราไม่ยกยอ เชิดชูในบางเรื่องลืมมองเรื่องความสามารถที่แท้จริง