ในสังคมยุคดิจิทัลทุกวันนี้ นวัตกรรม เทคโนโลยีพัฒนาก้าวล้ำหน้าอย่างไม่หยุดนิ่งและรวดเร็ว “ข้อมูล” ได้กลายเป็นทรัพยากรที่มีราคาและมีมูลค่า ผู้ที่สามารถเข้าถึงใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ในยุคเอไอ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก พยากรณ์และคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างชาญฉลาด  ย่อมได้เปรียบในโลกแห่งการแข่งขัน สามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจและสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างแม่นยำ การพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ ตีความและประยุกต์ใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล จึงกลายเป็นความจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ จำเป็นสำหรับผู้นำที่ต้องตัดสินใจดำเนินนโยบายได้อย่างแม่นยำตรงเป้าหมาย  

           รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หลากหลายสาขา มีบทบาทในฐานะผู้บริหารสถาบันองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน สถาบันการเงินและสถาบันการลงทุนหลากหลายแห่ง สามารถนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ทั้งหลายถ่ายทอดสู่ผู้เรียนอย่างถึงแก่นแท้ของหลักสูตรใหม่เกี่ยวกับวิทยาการวิเคราะห์ข้อมูลชั้นสูงทางด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจและการลงทุน นอกจากนี้ ทีมคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์พร้อมผลักดันผลงานทางวิชาการต่างๆ ผ่าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ  

            “ผมคิดว่าการศึกษาที่ดี มีคุณภาพ จะเปิดประตูแห่งโอกาสในการพัฒนาชีวิตของทุกคน ทำให้เจริญก้าวหน้า มีความหมาย มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในแง่สังคมโดยรวม หลักสูตร การเรียนการสอนที่ดี จะช่วยพัฒนาภูมิปัญญาให้ “นักศึกษา” ในการประกอบอาชีพ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพียบพร้อมในการเป็นพลเมือง ที่มีคุณภาพของประเทศและของโลก

พลเมืองคนรุ่นใหม่เหล่านี้ จะเป็น ทางออกของประเทศและทางรอดของมวลมนุษยชาติ เราต้องการ   นักเศรษฐศาสตร์เก่งๆ เราต้องการนักเศรษฐศาสตร์ที่คิดถึงประโยชน์สาธารณะ เราต้องการนักคิด นักสร้างสรรค์ ปัญญาชน เราวางเป้าให้ คณะเศรษฐศาสตร์เป็นสำนักคิดอันทรงพลังในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่ดีกว่าเดิม ประเทศที่น่าอยู่กว่าเดิม”

 รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า “การศึกษาเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่ประเมินค่าไม่ได้ จริงๆ ผมรักการเป็นครูเพราะไม่ใช่แค่ให้วิชาความรู้ เราต้องให้วิธีคิด ภูมิปัญญา ให้ “แรงบันดาลใจ” ได้ช่วยปั้น “เด็กๆ” ลูกๆ ของเรา ให้มีอนาคตที่สดใส มีความรู้ ประสบการณ์ที่ทำให้ชีวิตของนักศึกษาดีขึ้นทุกๆ วัน

การฝึกอบรมเรียนรู้ให้ ‘เยาวชน’ อนาคตของสังคมเป็นพลเมืองดี เป็นบัณฑิตที่มีความรู้ มีประสบการณ์และทำงานเป็น เป็นภารกิจและงานที่มีคุณค่า เป็น Decent Work”

Joseph Schumpeter อาจารย์มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด พูดถึงนวัตกรรมการจัดการ ในปี 1930s โดยเริ่มศึกษาถึงกระบวนที่ระบบทุนได้รับผลกระทบจากนวัตกรรม หนังสือ ของ Schumpeter “Capitalism, Socialism and Democracy”  อธิบายกระบวนการดังกล่าว โดยกล่าวว่าผู้ประกอบการต่างก็หาทางใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตสินค้า บริการหรือนวัตกรรมที่เป็นสินค้าใหม่ เพื่อสร้างประโยชน์เชิงธุรกิจให้กับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนวัตกรรมนั้นสามารถทำให้องค์กรมีกำไรจากการเป็นผู้ผูกขาด (Monopoly profit) ได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ก็ยังมีนักลงทุนบางคนที่พยายามจะลอกเลียนแบบเทคโนโลยีของผู้อื่น หรือดัดแปลงพัฒนาต่อยอดก็ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลาเช่นกัน เกิดเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป จนกระทั่งถึงจุดที่ความสามารถในการผูกขาดหมดไป ณ จุดนี้สิ่งต่างๆ จะวนกลับมาเป็นวัฏจักร เพื่อหนีการลอกเลียนแบบผู้ประกอบการเดิมหรือคนที่มองหานวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้เกิดรูปแบบการแข่งขันใหม่ๆ จากการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ Schumpeter เรียกว่าเป็น การทำลายที่สร้างสรรค์ (Creative Destruction) เมื่อมีการคิดสิ่งใหม่ๆ ทำลายสิ่งที่มีอยู่เดิม และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โอกาสใหม่รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจ

ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เป็นผู้เรียบเรียงและพิมพ์ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย ชื่อ ทรัพย์ศาสตร แก่นความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ยังสามารถประยุกต์ได้มาทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบันยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ยุคเอไอ

เศรษฐศาสตร์นั้นก็เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เกี่ยวข้องกับทุกๆ การทำงาน ทุกๆ กิจกรรม เรารู้แต่เราอาจไม่ใส่ใจจริงจัง เราทุกคนเป็นทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค เศรษฐศาสตร์จะเป็นวิชาที่ช่วยเราในกระบวนการตัดสินใจเลือกทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่าที่สุด ทั้งในการผลิต การบริโภค และการแลกเปลี่ยนหรือแม้แต่ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยุคปัจจุบัน ที่มีการแข่งขันสูง ระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศทั่วโลกต่างเชื่อมโยงถึงกัน คนที่มีความรู้เชิงลึกในด้านเศรษฐศาสตร์จึงเป็นที่ต้องการตัวขององค์กรต่างๆ อย่างมาก เพื่อวิเคราะห์และวิจัยเกี่ยวกับสภาวะตลาด ข้อมูลเชิงลึก และการวางแผนดำเนินธุรกิจต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) ตระหนักถึงการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นคนดี คนเก่งและมีคุณภาพแก่สังคม สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ทำความฝันให้เป็นจริง และประสบความสำเร็จในสายอาชีพ ตามแนวคิด Dreams Come True โดยเฉพาะการเปิดหลักสูตรใหม่ วิทยาการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ หรือ Data Analytics in Economics and Business นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ ของคณะเศรษฐศาสตร์ จะเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนและสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาอีกด้วย หลักสูตร Data Analytics ออกแบบให้ผู้เรียนได้ความรู้ พัฒนาทักษะวิเคราะห์ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึก ตั้งแต่พื้นฐานของกระบวนการได้มาซึ่งข้อมูล การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ไปจนถึงเทคนิคการวิเคราะห์ขั้นสูง การใช้เครื่องมือหรือโปรแกรมที่จำเป็นและทันสมัย เช่น Python, R, STATA, Power BI, Tableau และการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการฝึกปฏิบัติจริงในวิธีการใช้ข้อมูลทั้งในระดับจุลภาค และมหภาค สามารถเชื่อมโยงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออธิบายข้อมูลได้ โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนสามารถดึงคุณค่าของข้อมูลออกมาใช้ให้ได้มากที่สุดและนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงในโลกเศรษฐกิจดิจิทัล ที่สร้างพลังการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลักสูตรใหม่ Data Analytics นี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องการใช้ข้อมูลอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบอีกด้วย โดยผู้เรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูล รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีในการรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล  และความสำคัญของการตรวจสอบความเป็นอคติของข้อมูล ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

นอกจากนี้ หลักสูตรยังมีการนำทักษะทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Ai มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การสร้างแบบจำลองการพยากรณ์ที่ซับซ้อนและแม่นยำ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้การใช้เทคนิค Machine Learning เพื่อทำนายแนวโน้มตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคและตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีทักษะด้านธุรกิจ เชี่ยวชาญกลยุทธ์การจัดการและรับผิดชอบต่อสังคม และยังได้เรียนเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เศรษฐศาสตร์การท่องเที่ยวและบริการ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ เศรษฐศาสตร์เพื่อความยั่งยืน การบริหารเงินทุนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการวิเคราะห์หลักทรัพย์ นวัตกรรมทางการเงิน การบริหารความเสี่ยงทางการเงิน การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ การสร้างคุณค่าทางธุรกิจ การจัดการธุรกิจเชิงนวัตกรรม การจัดการความเสี่ยงองค์กร การจัดการทุนมนุษย์ เป็นต้น ทำให้มีทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในตลาดแรงงานยุคดิจิทัลปัจจุบัน นับเป็นการเพิ่มโอกาสใหม่ และติดอาวุธทักษะความรู้ สร้างคนให้มีอนาคตสดใส มีรายได้มั่นคงและมีความสุขแก่ผู้เรียนเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสำคัญ

              โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ หรือ “ดร.นุ” คณบดีคนใหม่ของคณะเศรษฐศาสตร์ UTCC เป็นผู้สอนและบริหารหลักสูตรใหม่ด้วยตนเอง ประสบการณ์จากการทำงานที่คร่ำหวอดในภาคเอกชน ภาครัฐกำหนดนโยบาย แวดวงการเงินการธนาคาร และภาคการศึกษามายาวนานหลายสิบปี ในฐานะ           “ครูเศรษฐศาสตร์” จะเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ จุดไฟฝันแก่ผู้เรียนให้มีความรู้ความเข้าใจในแก่นแท้ของศาสตร์วิทยาการข้อมูลและเศรษฐศาสตร์อย่างถ่องแท้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างถูกต้อง คุ้มค่าและมีคุณค่า “การเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ที่นี่ ผมไม่อยากให้นักศึกษามีแค่ความรู้ และปัญญาในการประกอบอาชีพสร้างความร่ำรวย แต่เราต้องการนักศึกษาที่จบไปเป็นบัณฑิตที่มีชีวิตที่มีความหมาย สร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น ให้สังคมได้ การปลูกฝังจริยธรรมและจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นเรื่องสำคัญในกระบวนการเรียนการสอนที่นี่ นักเศรษฐศาสตร์นอกจากสนใจเรื่องการแข่งขัน เรื่องประสิทธิภาพแล้ว ต้องสนใจในการทำอย่างไรให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมเป็นธรรมมากขึ้น ช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าสังคมเรามีดุลยภาพ สังคมนั้นก็ปกติสุขมีสันติธรรม เราก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข”

           วันนี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านธุรกิจ พร้อมจะสนับสนุน ‘เด็กหัวการค้า’ ให้เติบโตตามศักยภาพ เช่นเดียวกับที่หากคุณใฝ่ฝันที่จะเป็น ‘เด็กหัวเศรษฐศาสตร์’ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มั่นใจว่าจะสามารถผลิตบัณฑิตด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีความพร้อมรอบด้านในการเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจ การวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจ เป็นคนดี คนเก่งและมีคุณภาพสู่สังคม ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ได้เปรียบภายใต้การแข่งขันในโลกธุรกิจและเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนมีความรู้ความสามารถในการบูรณาการองค์ความรู้ของการวิเคราะห์ข้อมูลประยุกต์ใช้ได้กับบริบทของการทำงานได้อย่างชาญฉลาด สร้างสรรค์ ถูกต้องแม่นยำอย่างตรงใจผู้เรียนอย่างแน่นอน

About The Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *