กรุงเทพฯ ประเทศไทย 15 กุมภาพันธ์ 2565 –การเติบโตของปริมาณการจราจรทางอากาศของผู้โดยสารภายใน 20 ปีข้างหน้าจะเติบโตที่อัตราร้อยละ5.3 ต่อปี และการเร่งการปลดประจำการเครื่องบินเก่าที่มีประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงต่ำกว่าจะทำให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนั้นมีความต้องการเครื่องบินใหม่ 17,620 ลำ ทั้งเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินขนส่งสินค้า ในจำนวนนี้เกือบร้อยละ 30 จะเป็นการทดแทนเครื่องบินรุ่นเก่าที่มีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงต่ำกว่า
ในภูมิภาคซึ่งเป็นที่อยู่ของประชากรร้อยละ 55 ของโลกนี้อย่าง จีน อินเดีย และดินแดนที่เศรษฐกิจกำลังเกิดใหม่ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย จะเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในเอเชีย-แปซิฟิก การเติบโตของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน) ที่อัตราร้อยละ 3.6 ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ร้อยละ 2.5 และจะเพิ่มมูลค่าเป็นสองเท่าภายในปี 2583 ชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จะเดินทางมากที่สุดจะเพิ่มอีก 1.1 พันล้านคน เป็น 3.2 พันล้านคน และแนวโน้มทีผู้คนจะเดินทางจะเพิ่มเป็นเกือบสามเท่าภายในปี 2583
ในความต้องการเครื่องบินใหม่จำนวน 17,620 ลำนั้น จะเป็นความต้องการที่มีเครื่องบินขนาดเล็ก เช่น ตระกูล เอ220 และ เอ320 จำนวน 13,660 ลำ และสำหรับเครื่องบินพิสัยกลางและไกล ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยังคงเป็นผู้ขับเคลื่อนความต้องการ โดยคิดเป็นราวร้อยละ 42 ของความต้องการของทั้งโลก ซึ่งหมายถึงเครื่องบินประเภทขนาดกลาง 2,470 ลำ และขนาดใหญ่ 1,490 ลำ
ปริมาณการจราจรในการขนส่งสินค้าในเอเชียแปซิฟิกจะยังคงเพิ่มขึ้นด้วยอัตราร้อยละ 3.6 ต่อปี ซึ่งจะมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.1 และจะนำไปสู่การเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศในภูมิภาคนี้เป็นสองเท่าภายในปี 2583 ในภาพรวมทั่วโลกนั้น การขนส่งสินค้าที่รวดเร็วถูกกระตุ้นด้วยการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) และจะเติบโตด้วยอัตราที่รวดเร็วขึ้นที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี โดยรวมนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งภายในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีความต้องการเครื่องบินขนส่งสินค้า 2,440 ลำ ในจำนวนนี้ 880 ลำจะเป็นเครื่องบินที่ผลิตขึ้นมาใหม่
“เราจะเห็นการฟื้นตัวของทั้งโลกในด้านการจราจรทางอากาศ เมื่อข้อจำกัดในการเดินทางนั้นจะได้มีการผ่อนคลายมากขึ้น ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักอีกครั้ง เรามั่นใจถึงการกลับคืนมาอย่างแข็งแกร่งของการจราจรทางอากาศในภูมิภาคนี้และคาดว่าจะกลับเท่ากับระดับเดียวกับปี 2562 ภายในช่วงระหว่าง 2566 และ 2568” นายคริสเตียน เชอร์เรอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์และประธานแอร์บัส อินเตอร์เนชันแนล กล่าวและเสริมอีกว่า “ด้วยการมุ่งเน้นที่มากขึ้นไปยังประสิทธิภาพและการบินที่มีความยั่งยืนในภูมิภาค ผลิตภัณฑ์ของเรานั้นอยู่ในตำแหน่งที่ดีอย่างยิ่ง”
“พอร์ตโฟลิโอที่ทันสมัยของเรานั้น จะมอบความได้เปรียบด้านการใช้เชื้อเพลิงและด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ร้อยละ 20-25 เมื่อเทียบกับเครื่องบินในยุคเก่ากว่า และเราภูมิใจที่ผลิตภัณฑ์เครื่องบินของเราทั้งหมดนั้นได้ผ่านการรับรองให้ทำการบินกับการผสมเชื้อเพลิง SAF (เชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน – sustainable aviation fuel) ร้อยละ 50 และตั้งเป้าว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 100 ภายในปี 2573นอกเหนือจากนั้น เครื่องบินเอ350เอฟ (A350F) สำหรับขนส่งสินค้าที่เพิ่งเปิดตัวนั้น มีข้อได้เปรียบที่ร้อยละ 10 ถึง 40 เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องบินขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่ทั้งมีอยู่ในปัจจุบันหรือกำลังจะออกสู่ตลาด ทั้งในด้านของการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”
ในอีก 20 ปี ทั่วทั้งโลกจะมีความต้องการเครื่องบินใหม่ประมาณ 39,000 ลำ ทั้งเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินขนส่งสินค้าที่ผลิตขึ้นมาใหม่ ในจำนวนนี้ 15,250 ลำ นั้นจะเป็นความต้องการเพื่อทดแทนเครื่องบินเดิม ส่งผลให้ภายในปี 2583 เครื่องบินพาณิชย์ส่วนใหญ่จำนวนมากที่ปฏิบัติการอยู่นั้นจะเป็นเครื่องบินยุคใหม่ เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 13 ในปัจจุบัน ทำให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพด้านก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของฝูงบินพาณิชย์ทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ
อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกนั้นได้บรรลุก้าวสำคัญในด้านประสิทธิภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นจากการลดลงถึงร้อยละ 53 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการบินต่อผู้โดยสาร-กิโลเมตร นับตั้งแต่ปี 2533 สายผลิตภัณฑ์ของแอร์บัสนั้นสนับสนุนความก้าวหน้าในประสิทธิภาพด้านก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อยร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับเครื่องบินยุคก่อนหน้า และเมื่อมองดูนวัตกรรมที่กำลังดำเนินไป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การปรับปรุงด้านการปฏิบัติการ และทางเลือกที่ยึดตลาดเป็นฐาน แอร์บัสมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนที่จะบรรลุเป้าหมายของภาคการขนส่งทางอากาศที่จะไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593