หน้าห้องทุจริต เจ้านายยังอยู่ได้ไง แถมไม่สะท้าน เรียกมาใช้ต่อ แม้ถูก ป.ป.ช. ไล่ออก
เป็นเรื่องอีกแล้ว เมื่อ 1 ใน 9 กรรมการ ป.ป.ช. ตั้งลูกน้องคนสนิท จาก DSI ซึ่งเป็นต้นสังกัดเก่า มาทำหน้าที่เป็นหน้าห้อง คอยรับเรื่องร้องทุกข์ แต่เจ้าตัวไม่รู้ผิดชั่ว ใช้อำนาจหน้าที่เรียกรับประโยชน์ จากผู้ถูกร้องเรียน จนถูกล่อซื้อจับได้พร้อมเงินของกลาง และถูก ป.ป.ช. สั่งไต่สวน ตั้งความผิด 3 กระทง ขณะที่อัยการสูงสุด รับสำนวนและสั่งฟ้องตามมติชี้มูล ปัจจุบันพบว่า ถูกไล่ออกจากราชการแล้ว แต่เจ้านาย ยังไม่สะท้านความผิด ดึงตัวกลับมาทำหน้าที่ติดตามใกล้ชิด
หน้าห้องคนสนิทรายนี้คือ นายสุปรีชา แสนศรี พนักงานไต่สวน ระดับสูง ซึ่งทำหน้าที่ติดตามนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้กำกับดูแล สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดในเขตพื้นที่ภาค 1 และเป็นประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำภาค 1
โดยทั้งคู่ โอนย้ายมาจาก ดีเอสไอ มาทำหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช. โดยนางสุวณา ได้โอนย้ายมาทำหน้าที่ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้กำกับดูแล สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดในเขตพื้นที่ภาค 1 และเป็นประธานคณะอนุกรรม การกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำภาค 1 ก่อนที่จะดึงนายสุปรีชา
มาอยู่ประจำสำนักกรรม การ
โดยมีการกำหนดหน้าที่ให้ นายสุปรีชา แสนศรี ปฏิบัติหน้าที่พนักงานไต่สวนประจำกรรมการ ป.ป.ช. (นางสุวณา สุวรรณจูฑะ) และยังแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำภาค 1 ซึ่งในความเป็นจริง ระดับของ นายสุปรีชา ไม่มีกรรมการคนใดตั้งเป็นอนุกรรมการฯ เพราะหากจะแต่งตั้ง ต้องมีระดับเป็น ผอ.หรือ ผู้ช่วยเลขาฯ เท่านั้น แต่นางสุวณา กลับวางใจให้ทำหน้าที่จนมีเหตุเรียกรับเงิน
ดังนั้น นายสุปรีชา จึงได้อาศัยโอกาสที่เป็นอนุกรรมการกลั่นกรองไปเรียกรับเงิน จำนวน 30,000 บาท จากบุคคลที่ถูกร้องเรียนต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เนื่องจากสำนวนคดีของบุคคลที่ถูกเรียกเงินดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของคณะอนุกรรม การกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำภาค 1
ดังนั้นบุคคลที่ถูกเรียกรับเงิน จึงได้ไปแจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่ป้องกันการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดลพบุรี จนนำไปสู่การวางแผน ให้มีการโอนเงินให้กับบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดกับนายสุปรีชา เพื่อจับกุม
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้มีการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงการกระทำความผิดของนายสุปรีชา ในกรณีดังกล่าว
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง และได้มีการดึงข้อมูลจากคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ของนายสุปรีชา พบว่านอกจากเหยื่อรายแรกแล้ว ยังได้มีการเรียกเงินจากบุคคลที่ถูกร้องเรียนต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำภาค 1 เพิ่มอีก 2 ราย คณะกรรมการไต่สวน จึงได้สรุปสำนวนเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบตามสำนวนการไต่สวน ว่าการกระทำของนายสุปรีชา เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 157 และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 172 มาตรา 173 (จำนวน 3 กระทง) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และสั่งฟ้อง
ทั้งนี้ อัยการสูงสุด ได้รับสำนวนการไต่สวนนายสุปรีชา จากสำนักงาน ป.ป.ช. และมีคำสั่งให้ฟ้องนายสุปรีชา ต่อศาล ตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล
นอกจากนี้ ในชั้นไต่สวนยังพบว่านายสุปรีชา ได้กระทำความผิดในทำนองเดียวกันในกรณีอื่นๆ อีก ในทุกสำนวน ที่ตัวเองได้รับความไว้ใจจากกรรมการ (นางสุวณา) ให้กลั่นกรอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเบื้องต้นของสำนักงาน ป.ป.ช. อีกหลายๆเรื่อง
ปัจจุบันแม้นายสุปรีชา จะถูกไล่ออกจาก ป.ป.ช.ไปแล้ว แต่ก็ยังทำหน้าที่ติดตาม นางสุวณา ไปในงานต่างๆ และยังได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ไม่ต่างจากเดิม