หลายครั้งต่อหลายครั้ง เราจะได้เห็นกลุ่มนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบอะไรต่างๆ ในช่วงเหตุการณ์ที่ผ่านมา ล่าสุดวันนี้ก็มี Hashtag ติดเทรนด์อันดับหนึ่ง #โรงเรียนดังย่านปัฏวิกรณ์ เรื่องเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่นักเรียนและผู้ปกครอง อยากให้มีการแก้ไข
เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โรงเรียนมีส่วนอย่างมากในการสอนให้เยาวชนมีกฎระเบียบ และประพฤติตนที่เหมาะสมในสังคม แต่สิ่งที่ต่างเกิดขึ่นในปัจจุบันนั้นมีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง แล้วการเปลี่ยนแปลงตามคำเรียงร้องนั้นจะดีจริงหรือ? เรามาดูกันเป็นข้อๆ ถึงเหตุและผลกัน ในแต่ละหัวข้อกันโดยรวบรวมเอาจากความเห็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเหตุและผลต่างๆ ที่มีการแชร์กัน
เรื่องการเข้าแถวหน้าเสาธง
นักเรียนหลายคนบอกว่าการเข้าแถวหน้าเสาธงเป็นสิ่งที่ควรเลิกทำ เพราะแดดมันร้อนมาก ในขณะเดียวกันทางด้านโรงเรียนก็ออกมาชี้แจงทันทีว่าเพียงแค่ 10 นาที เท่านั้น เรามาดูที่มาที่ไป และความจำเป็นต้องการเข้าแถวกันเสียหน่อย ว่าเหตุผลในการเข้าแถวร่วมกันคืออะไร
- เพราะต้องการให้เกิดความพร้อมเพรียงกันในการเข้าเรียน การเข้าแถวหน้าเสาธงเพื่อต้องการให้นักเรียนรู้จักในการรักษาเวลานั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ในมุมมองอื่นๆ การทำให้นักเรียนรู้จักการรักษาเวลาในการเข้าเรียนสามารถทำได้ในหลากหลายทาง มิใช่เพียงการเข้าแถวพร้อมกันเท่านั้น
- เพราะต้องเคารพธงชาติ และร้องเพลงชาติ การส่งเสริมให้เกิดการรักชาตินั้น เป็นสิ่งที่ดี ถ้าเราจะนับย้อนกลับไปการปลูกฝังค่านิยมการรักชาตินั้นเริ่มมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป พิบูลสงคราม แล้ว ซึ่งทำให้เป็นศูนย์รวมการรวมใจของประเทศ และรักชาติ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าหากนักเรียนรวมตัวกันเพื่อร้องเพลงชาติ โดยที่ไม่รู้สึกว่าเพลงชาติ นั้นสำคัญอย่างไร การรวมตัวกันเพื่อร้องเพลงชาตินั้น อาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องก็เป็นได้
- เพราะต้องการให้นักเรียนได้รับข่าวสารอัพเดทล่าสุดจากผู้อำนวยการโรงเรียน การชี้แจงข้อมูลต่างๆ หรือให้โอวาทต่างๆ กับนักเรียนเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป นักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น ในอดีตเราไม่ได้มีอินเทอร์เนต จึงจำเป็นต้องมารวมตัวกันเพื่อรับฟังพร้อมกัน แต่ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนไป สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น โรงเรียนควรเปลี่ยนรูปแบบในการอัพเดทข่าวสารหรือไม่?
เรืองมารยาท การก้มกราบตอนเข้าแถวหน้าเสาธง
เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก ว่าควรหรือไม่ เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าการสอนให้นักเรียนมีมารยาทที่ดี และก้มลงกราบเป็นสิ่งที่ดี และพึงกระทำ แต่สิ่งนึงที่ควรคำนึงถึงคือ นักเรียนกำลังก้มกราบ หรือให้ความเคารพต่อสิ่งใดอยู่ กำลังก้มกราบ ผู้อำนวยการ หรือ ก้มกราบ เพื่อระลึกถึงผู้ก่อตั้งโรงเรียน แล้วสามารถสอนเรื่องมารยาท หรือ ก้มกราบเพื่อระลึกถึงผู้ก่อตั้งโรงเรียนสามารถทำในวิธีการอื่นได้หรือไม่
การที่โรงเรียนออกมาตอบโต้ หรือชี้แจงหลายๆ ครั้งว่า ทำไมรุ่นอื่นๆ ไม่เห็นมีปัญหา ถ้าไม่สามารถเคารพกฏโรงเรียนได้ ก็ลาออกไปเรียนที่อื่นนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว ทางโรงเรียนควรออกมาชี้แจงหรือมองย้อนกลับมาว่า
กฎระเบียบนั้นเก่าเกินไป หรือ ควรปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยหรือไม่
การทำตามกฎนั้นดีอย่างไร การมีมารยาทนั้นดีอย่างไร
เรื่องผม และสีผม
เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ว่านักเรียนควรไว้ผมสั้นเพื่อให้เรียบร้อย หรือควรปล่อยตามสบายให้นักเรียนไว้ทรงผมอะไรก็ได้ หรือสีผมอะไรก้ได้ ในความเป็นจริงแล้วเราต้องยอมรับความจริงข้อนึงว่าความยาวและสีของผม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลการเรียนของนักเรียน ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า ผมสั้นแล้วจะเรียนเก่ง หรือผมสีดำแล้วจะเรียนดี แต่ควรสอนให้นักเรียนรู้จักการดูแลผม และทำให้ไม่พะรุงพะรัง จนเป็นการรบกวนในการเรียนหนังสือ หากเราจะมองเปรียบเทียบกัน ระหว่างนักเรียนสายสามัญ กับนักเรียนทางด้านสายอาชีพ ในอายุที่เท่ากัน เหตุใดสายอาชีพจึงไม่เคร่งครัดเรื่องนี้เท่าเด็กสายสามัญ ทั้งๆ ที่เราอยู่ในประเทศเดียวกัน หรือหากจะชี้แจงว่าเรื่องผมเป็นกฎระเบียบของแต่ละโรงเรียนที่บังคับก็สามารถทำได้ เช่นหากต้องการเรียนโรงเรียนนายร้อยจำเป็นต้องตัดผมให้สั้น สิ่งที่โรงเรียนควรทำก็คือชี้แจงและออกกฎระเบียบออกมาให้ชัดเจนว่า แบบใดที่เหมาะสมกับโรงเรียนและเพราะเหตุใด และชี้แจงสิ่งนี้กับนักเรียนและผู้ปกครองให้ทราบตั้งแต่วันแรกที่เข้า
ยังมีเรื่องราวอีกมากมายเกี่ยวกับการศึกษา เช่นการสอนให้ท่องจำโดยนักเรียนไม่รู้เลยว่า เรียนไปแล้วได้ประโยชน์อะไรกับตนเอง การพัฒนาการศึกษานั้นไม่เพียงแต่พัฒนาที่ตัวนักเรียนแต่จำเป็นต้องรวมไปถึงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องในระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรในการสอน วิธีในการนำเสนอการสอน บุคลากรในการสอน วิธีการบริหารการสอน การบริหารโรงเรียน สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมและเกิดการพัฒนาต่อประเทศได้ เพราะการศึกษาคือรากฐานของการพัฒนา