ทุกคนคงคิดว่า ทุกวงการ ก็มีการทุจริต หรือ ที่เรียกว่า “คอรัปชั่น” กันทั้งนั้น ยิ่งในช่วงนี้วงการสีกากี วงการผ้าเหลืองมีข่าวออกมาแทบไม่เว้นวัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวทุนจีนสีเทา ต่างๆ แต่หลายคนอาจจะลืมหลงลืมไปว่า วงการที่มีการคอรัปชั่นไม่แพ้ใคร ในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยมีใครออกมาแฉ หรือเอาออกมาเปิดโปงสักเท่าไร นั่นคือ วงการการศึกษา
หลายคนคงเคยเห็นข่าวเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง เพื่อให้ตัวเองได้เลื่อนขั่นไปในตำแหน่งสูง จนถูกจับลงข่าวหน้าหนึ่งกันไปแล้ว แต่เคยสงสัยมั้ยว่า “คนพวกนั้นซื้อตำแหน่งไปเพื่ออะไร??”
เพื่อได้เงินเดือนขึ้น – คิดว่ามันคุ้มกับตำแหน่งที่ได้ซื้อมาหรือเปล่า?
เพื่อให้ได้มีหน้ามีตาในสังคม – คิดว่ามันคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไปหรือไม่?
เพื่อให้…
ถูกแล้ว..เมื่อมีตำแหน่งที่สูงขึ้นโอกาสในการใช้อำนาจจากหน้าที่นั้นก็สูงขึ้นเช่นกัน
ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างในเรื่องหนึ่งที่ผู้ปกครองหลายคน ประสบพบเจอกันมา แต่เพราะระบบมันเป็นแบบนี้ ก็จำเป็นต้องยอม เพราะถ้าไม่อย่างนั้นอาจจะมีปัญหาตามมา …
ปัญหานั้นก็คือ … เงินแป๊ะเจี๊ยะ หรือ ที่เรียกกันว่า “เงินใต้โต๊ะ”
ผู้ปกครองหลายๆ คนต้องการให้บุตรหลาน เข้าในสถาบันการศึกษาที่ดี มีชื่อเสียง มีประวัตินักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ มีมารยาทที่ดี หรือแม้กระทั่งโรงเรียนใกล้บ้าน
ปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ทำให้ผู้ปกครองต่างควนควายหาโรงเรียนที่มีชื่อต่างๆ ทั้งชื่อดัง และมีชื่อรองๆ ลงมา ในขณะที่จำนวนนักเรียนที่โรงเรียนนั้นๆ สามารถเปิดรับได้ก็มีจำนวนจำกัดในแต่ละปี ทำให้เกิดช่องว่างและโอกาสในการเกิดคอรัปชั่นจากผู้มีอำนาจจากโรงเรียน ผู้มีสิทธิในการคัดเลือกนักเรียนเข้ามาในโรงเรียน โดยการใช้เส้นสาย หรือที่เรียกว่า “เด็กฝาก” หรือ “จ่ายเงินใต้โต๊ะ” เพื่อให้สิทธิแก่นักเรียนคนนั้นเข้ามาเรียนในโรงเรียน
ผู้ปกครองหลายคนเสียเงินหลายแสนบาท เพื่อเป็นเงินใต้โต๊ะให้กับ “ผู้มีอำนาจ” มีตั้งแต่หลักหมื่นบาทจนถึงหลักล้าน ลองคิดดูเล่นๆ หากเป็นโรงเรียนชื่อดังขนาดกลาง จ่ายเงินใต้โต๊ะ 200,000 บาท ต่อ คน สมมติว่า ในหนึ่งปี สามารถรับนักเรียนได้ 5 ห้อง (ห้องละ 40 คน) จะเท่ากับ 200,000x5x40 = 40,000,000 บาท นี่แค่โรงเรียนระดับกลางเท่านั้น เท่าที่ทราบมาโรงเรียนชื่อดังบางโรงเรียน รับเงินใต้โต๊ะ มีมูลค่า 7 หลัก กันเลยทีเดียว และเงินพวกนี้เป็นเงินที่โอนเข้าตรงให้กับผู้มีอำนาจ ไม่ได้เข้าให้โรงเรียน หมายความว่า ค่าเทอม ค่าบำรุงการศึกษา ค่าแรกเข้านั้นต้องจ่ายต่างหาก
แล้วเงินพวกนี้ ผู้ปกครองต่างคิดว่า เป็นค่าที่ซื้อสังคมโรงเรียน หรือ ต้องการให้บุตรหลานอยู่ในโรงเรียนที่มีชื่อตามความต้องการของตนเอง โดยคิดว่าโรงเรียนแห่งนั้นจะสามารถสอนให้บุตรหลานของตนเองดีขึ้น หรือมีสังคมที่ดี โดยลืมคิดไปว่า โรงเรียนแห่งนั้นมีคุณภาพจริงๆ หรือไม่ หรือ โรงเรียนแห่งนั้นมีสังคมที่ดีจริงๆ หรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น โรงแรียนแห่งนั้น มีนักเรียนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เป็นจำนวนมาก แต่อาจจะลืมคิดไปว่า..นักเรียนส่วนมากต่างเสียค่ากวดวิชาแทบทุกวิชา เกร็งข้อสอบต่างๆ อีกแทบไม่เว้นวันนอกโรงเรียนจนทำให้เด็กนักเรียนเหล่านั้นสอบติดมหาวิทยาลัย
เรื่องคอรัปชั่น เหล่านี้คงไม่หมดไปจากเมืองไทยง่ายๆ ถ้าหากไม่เกิดความร่วมมือในการกวาดล้างทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่ไม่ยอมจ่ายเงินใต้โต๊ะ หรือ นโยบายจากภาครัฐที่จะทำให้การศึกษาเท่าเทียม หรือ การพัฒนาครูให้มีบทบาทหน้าที่ที่ดี
ได้แต่หวังว่า คอรัปชั่น ในวงการการศึกษาจะหมดไปอย่างเร็ววัน